รักษ์สุขภาพ - ตอนที่ 9 อนุมูลอิสระ (3)

การอักเสบ (Inflammation) ของหลอดเลือดเรื้อรัง (Chronic) ดังกล่าว จึงนำไปสู่โรคของอวัยวะ (Organ) สำคัญๆ ถ้าเป็นที่หลอดเลือด ก็จะทำให้ความดันสูง (Hypertension), ถ้าเป็นที่หัวใจ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infraction), ถ้าเป็นที่สมอง ก็ทำให้เป็นอัมพาต (Paralysis) หรือสมองเสื่อม (Dementia), และถ้าเป็นที่ไต ก็ทำให้เป็นโรคไต (Renal) เรื้อรัง เป็นต้น

กลไก (Mechanism) ของการอักเสบของหลอดเลือด (Blood vessel) นอกจากอนุมูลอิสระ (Free radical) ที่ทำปฏิกิริยากับไขมันเลว (Low density lipoprotein: LDL) ที่ผนังหลอดเลือดแล้ว ยังมีปัจจัยตั้งต้นอื่น เช่น สารพิษ (Toxin) ที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด (Blood stream) เช่น บุหรี่และยาฆ่าศัตรูพืช (Pesticide)

สารพิษดังกล่าว เกิดจากการบาดเจ็บ (Injury) ของหลอดเลือด, อุบัติเหตุ (Accident) หรือแรงกระแทก (Impinge) ในภาวะความดันโลหิตสูง, เชื้อโรค (เช่นการติดเชื้อ [Infection] ที่เหงือก แล้วเข้ามาสู่กระแสเลือด, หรือแม้กระทั่งจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune) เช่น ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

นอกจากนี้ สารที่เกิดการย่อยสลาย (Decompose) ของอาหารประเภทโปรตีน (Homocysteine) ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ โดยทำให้เยื่อบุผิว (Epithelium) ในหลอดเลือดเสียการทำงาน (Function) เป็นกลไกที่กระตุ้น (Trigger) การก่อตัวของลิ่มเลือด (Blood clot) และผลิตอนุมูลอิสระมาทำปฏิกิริยากับ LDL

บทสรุปการนำความรู้เรื่องการอักเสบในร่างกายคนเรามาใช้ประโยชน์

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้ไขมัน LDL ในเลือดสูง อันได้แก่ อาหารที่มีไขมันจากเนื้อสัตว์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานทุกชนิดมากเกินไป จนพลังงานเหลือใช้
  • ลดปริมาณอนุมูลอิสระในร่างกายลง ด้วยการกินอาหารที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อันได้แก่ พืชผักและผลไม้หลายหลากสีและรส ตามฤดูกาล ในขณะเดียวกันก็ขยันออกไปตากแดด เพื่อเพิ่มเติมการสร้างสารเมลาโทนิน (Melatonin) ให้เซลล์ของร่างกายไว้ต้านอนุมูลอิสระ
  • จัดการความเครียด (Stress) ให้ดี เพราะมันเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ปฏิกิริยาการเกิดระบบเผาผลาญ (Metabolism) ของเซลล์ ที่จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระ อันเป็นผลเสียต่อร่างกาย
  • ระวังการติดเชื้อ (Infection) ทุกชนิด แต่ถ้าติดเชื้อแล้ว อย่าปล่อยให้เรื้อรัง (Chronic) ต้องรีบเข้ารับการรักษา (Treatment) ให้หาย
  • ในกรณีที่สงสัยว่า ร่างกายมีการอักเสบอันอาจจสืบเนื่องจากการเกิดภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี (Annual check-up) แล้วพบว่า สารบ่งชี้การอักเสบ (C-reactive protein: CRP) เพิ่มสูงผิดปรกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย (Diagnosis) แยกโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune) แล้วรีบรักษา
  • หลีกเลี่ยงสารพิษจากสภาพแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่, ฝุ่น PM 2.5 (Particle matter with diameter < 2.5 microns), ควันไอเสีย, ยาฆ่าศัตรูพืช, โลหะหนัก (Heavy metal) จากอาหารทะเล

แหล่งข้อมูล 

  1. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
  2. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. และ พญ. ดร. พิจิกา วัชราภิชาต (2566). Healthy Life Bible คัมภีร์สุขภาพดี: สุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท ฟรีมาย์ พับลิชชิ่ง จำกัด.